ไม่ใช่ทุกเลเซอร์จะดีเหมือนกันหมด
เลือกให้เหมาะก่อนตัดสินใจ

ใครที่เคยทำเลเซอร์ผิวหน้าคงคุ้นเคยกับวิธีดูแลหลังทำกันดี คือห้ามให้บริเวณที่ทำเลเซอร์โดนแดด ต้องทาครีมกันแดดป้องกันเป็นจำทุกวัน
เลเซอร์จะทำให้ผิวหน้าบาง ยิ่งหากเราไปตากแดด อยู่กลางแจ้งนาน ๆ ก็จะยิ่งทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำได้ง่ายยิ่งขึ้น
วันนี้ Modella Clinic จะพาทุกคนไปหาคำตอบว่าเลเซอร์ทำให้หน้าบางจริงหรือไม่ แล้วทำไมถึงต้องซีเรียสเรื่องทาครีมกันแดด
ชนิดของเลเซอร์

การทำเลเซอร์ นับว่าเป็นวิธีการรักษาปัญหาผิวหน้าที่มีประสิทธิภาพ และเห็นผลลัพธ์ไว เลเซอร์ช่วยดูแลปัญหาผิวได้ ดังนี้
-ลดฝ้า กระ รอยดำ รอยแดง
-ลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า
-แก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอ
-กำจัดขน
-กำจัดไฝ ติ่งเนื้อ
-ลบรอยสัก
-ลดหลุมสิว กระชับรูขุมขน
เลเซอร์ที่นำมาใช้ทางด้านความงามนั้นมีด้วยกันหลายประเภท แต่ละประเภทก็เหมาะสำหรับปัญหาผิวหน้าที่แตกต่างกันออกไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1.เลเซอร์ชนิดลอกผิว (ablative laser resurfacing)
เลเซอร์ที่ทำให้เกิดแผลบนผิวหนังตั้งแต่ผิวชั้นบนไปจนถึงชั้นหนังแท้ ผิวชั้นบนจะลอกออก ส่วนผิวที่อยู่ใต้ลงไปแม้จะไม่ลอกออกแต่ความร้อนก็กระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้นเพื่อสร้างผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน เหมาะสำหรับรักษาหลุมสิว ผิวไม่เรียบเนียน สีผิวไม่สม่ำเสมอ เลเซอร์ชนิดนี้มีระดับความแรงมากที่สุดเพราะลงลึกถึงชั้นหนังแท้ หากดูแลแผลไม่ดีมีโอกาสที่จะเกิดปัญหารอยคล้ำตามมาได้ ตัวอย่างเลเซอร์ เช่น Erbium-YAG , CO2 (ปัจจุบันมัก CO2 นำมาใช้จี้ไฝ ตัดติ่งเนื้อ)
2.เลเซอร์ชนิดไม่ลอกผิว (Non-ablative laser Resurfacing)
เป็นเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดแผลบนผิวหน้า โดยเลเซอร์จะส่งพลังงานความร้อนไปยังบนชั้นลึก ช่วยกระตุ้นให้คอลลาเจนมีการสร้าง และจัดเรียงตัวใหม่ สามารถช่วยให้ริ้วรอยตื้น ๆ ลดลงได้ ผิวดูกระชับเรียบเนียนขึ้น ผลข้างเคียงน้อย แต่ผลของการรักษาหลุมสิวอาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเลเซอร์ชนิดลอกผิว ตัวอย่างของเลเซอร์ เช่น Pico laser, diode laser , Q-Switch laser
ปกติแล้วผิวหนังของเราประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

ปกติแล้วผิวหนังของเราประกอบไปด้วย
1.หนังกำพร้า (Epidermis)
2.หนังแท้ (Dermis)
3.ผิวหนังชั้นไขมัน (Hypodermis หรือ Subcutis)
การทำเลเซอร์ชนิดลอกผิว เกิดการผลัดเซลล์ตั้งแต่ผิวหนังชั้นขี้ไคล ชั้นหนังกำพร้า จนถึงชั้นหนังแท้ได้ขึ้นอยู่กับชนิดเลเซอร์ ซึ่งต่อมาก็จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนในระยะเวลาประมาณ 28 วัน และยังกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังแข็งแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกหลังทำเลเซอร์ ผิวหนังอยู่ในช่วงซ่อมแซม และอ่อนแอ จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้เครื่องสำอาง ครีมบำรุง หรือผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาริ้วรอยสิว ฝ้า กระ ผิวหมองคล้ำ ผื่น ขาดความชุ่มชื้นตามมาได้ จึงเรียกได้ว่าเป็นช่วง “ผิวบาง” ชั่วคราว
ปัญหาที่พบได้บ่อยหลังทำเลเซอร์ชนิดลอกผิว

ปัญหาที่พบได้บ่อยหลังทำเลเซอร์ชนิดลอกผิว
รอยดำ บริเวณที่ทำเลเซอร์เพราะถูกทำร้ายจากรังสี UV ยิ่งประเทศไทยที่สภาพอากาศร้อน แดดแรงในตอนกลางวัน ยิ่งมีโอกาสเกิดรอยดำได้ง่าย
รังสี UV หรือรังอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) รังสีที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ หรือเกิดจากอุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 100-400 นาโนเมตร ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
1.รังสียูวีเอ (UVA) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320-400 นาโนเมตร ไม่ถูกดูดซับที่ชั้นบรรยากาศ ในแสงแดดมีมากถึง 95% เราจึงได้รับรังสีชิดนี้มากที่สุด สามารถผ่านทะลุกระจกได้ แม้ในที่ร่มก็ยังได้รับรังสีอยู่ มีปริมาณสูงตลอดทั้งวัน สามารถลงได้ลึกถึงชั้นหนังแท้ จึงไปทำลายพวกคอลลาเจน อีลาสติน ทำให้เกิดปัญหาผิวหย่อนคล้อย ริ้วรอยก่อนวัย จุดด่างดำ และยังไปกดภูมิคุ้มกันของผิวหนังเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
2.รังสียูวีเอ (UVB) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 290-320 นาโนเมตร ถูกดูดซับที่ชั้นบรรยากาศแต่ไม่ทั้งหมด ในแสงแดดมีรังสีชนิดนี้อยู่ประมาณ 5% ไม่สามารถทะลุกระจกได้ แต่มีความเข้มมากจึงทำให้ผิวหนังไหม้แดด แสบ แดง แห้งกร้าน เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ โดยจะมีปริมาณสูงในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ในสถานที่ เช่น แถบทะเล พื้นที่สูง
3.รังสียูวีซี (UVC) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 100-290 นาโนเมตร ถูกดูดซับที่ชั้นบรรยากาศได้หมดที่ชั้นโอโซน จึงไม่ลงมายังผิวโลก แต่ปัจจุบันโอโซนถูกทำลายมากขึ้นจากปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากทะลุผ่านมายังผิวโลกได้ก็จะเป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้กระจกตาอักเสบ และสามารถทำให้ผิวหนังอักเสบ ไหม้ หรือกลายเป็นมะเร็งได้
สาเหตุการเกิดรอยดำหลังทำเลเซอร์

สาเหตุการเกิดรอยดำหลังทำเลเซอร์
เมื่อได้รับรังสี UVA หรือ UVB ในขณะที่ผิวกำลังอ่อนแอ กลไกการป้องกันของร่างกายทำงานมากขึ้นเพื่อไม่ให้รังสีทะลุลงไปทำลายชั้นผิว เกิดการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเม็ดสีจะทำหน้าที่ดูดกลืนรังสี UV เข้าไป ปกติแล้วเม็ดสีสร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ที่อยู่ในชั้น Basal cell layer ซึ่งเป็นชั้นล่างสุดของผิวชั้นหนังกำพร้า ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีที่ชื่อว่าเมลานิน (Melanin) ส่งผ่านมายังเซลล์เคราติโนไซต์ (Keratinocyte) และเคลื่อนที่ขึ้นไปที่ผิวชั้นบน หากผิวได้รับรังสี UV ก็จะไปกระตุ้นเมลาโนไซต์โดยตรง หรือไปกระตุ้นเอนไซม์ Tyrosinase ที่มีส่วนสำคํญในการสร้างเม็ดสีให้ทำงานมากขึ้น เมลาโนไซต์จึงผลิตเม็ดสีออกมามากผิดปกติ ทำให้ผิวมีสีเข้ม จนบางครั้งอาจเกิดเป็นรอยดำ ฝ้า กระ จุดด่างดำได้
ค่า SPF กับ ค่า PA ป้องกันผิวอย่างไร?

หลังเลเซอร์ชนิดลอกผิวทำให้ผิวไวต่อแสงแดดง่าย การปกป้องผิวจากรังสี UV จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง ใส่หมวก ใส่แมสปิดหน้า อยู่แต่ในที่ร่ม แต่อย่างที่ทราบกันดีว่ารังสี UV บางชนิดมีความสามารถในการทะลุผ่านได้ดี แม้จะอยู่ในที่ร่มก็อาจยังได้รับรังสีอยู่ ดังนั้นทางเลือกที่ดีสุดในการปกป้องผิวจากรังสี UV นั่นก็คือ การทาครีมกันแดด
ครีมกันแดด (Sunscreen) คือ สารที่ป้องกันไม่ให้ผิวเสียจากการได้รับรังสี UV วิธีการเลือกซื้อครีมกันแดด นอกจากจะดูว่าเป็นรูปแบบครีม หรือสเปรย์แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ใช้พิจารณาประสิทธิภาพครีมกันแดดนั่นคือ ค่า SPF และค่า PA ซึ่งเรามักเห็นบ่อย ๆ ตามหน้าฉลากครีมกันแดด
ค่า SPF (Sun Protection Factor) ใช้บอกว่าเราสามารถสู้แดดได้นานแค่ไหนผิวถึงจะไหม้แดด เป็นการดูความสามารถในป้องกันผิวจากรังสี UV ชนิด UVB เช่น
SPF 15 คือ ความสามารถในการปกป้องผิวจากอาการไหม้แดดมากกว่าผิวปกติที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด 15 เท่า สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ 93%
ส่วนที่เราได้ยิน SPF 50+ นั่นคือครีมกันแดดมีค่า SPF มากกว่า 50 แต่เนื่องจากประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UVB ไม่ได้ต่างจาก SPF 50 มากนัก จึงไม่แสดงค่า SPF ที่เป็นตัวเลขมากว่า 50
ค่า PA (Protection Grade of UVA) ใช้บอกความสามารถในป้องกันผิวจากรังสี UV ชนิด UVA โดยเครื่องหมาย + 1 อัน คือ ความสามารถในการปกป้องผิวจากความหมองคล้ำได้มากกว่าผิวปกติที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด 2-4 เท่า เช่น PA +++ สามารถปกป้องผิวจากความหมองคล้ำได้มากกว่าผิวปกติ 8-16 เท่า
การเลือกใช้ครีมกันแดดควรเลือกแบบไหน?

การเลือกใช้ครีมกันแดดควรเลือกแบบที่สามารถป้องกันผิวได้ทั้ง UVA และ UVB เพราะเป็นรังสีที่มีในแสงแดดมากที่สุด อย่างไรก็ตามการเลือกว่าจะใช้ครีมกันที่มีค่า SPF หรือ PA เท่าไหร่นั้นควรพิจารณาจากการใช้ชีวิตประจำวันว่าเรามีกิจกรรมกลางแจ้งมากแค่ไหน
ตัวอย่างเช่น
-หากอยู่แต่ในบ้านควรเลือกแบบที่มี SPF 30 PA++
-หากต้องอยู่กลางแดดนาน ๆ ควรเลือกแบบที่มี SPF 50+ PA++++
ควรเลือกแบบที่กันน้ำได้ ทาก่อนออกแดด 15-30 นาที ที่สำคัญคือ ในผู้ที่เพิ่งผ่านการทำเลเซอร์ชนิดลอกผิวมา ในระยะแรกควรเลือกใช้ครีมกันแดดสูตรอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของสารอันตราย เช่น ออกซิเบนโซน ไทเทเนียมไดออกไซด์ ซิงค์ออกไซด์ กรดพาบา หรือผสมแอลกอฮอล์ น้ำหอม และวัตถุกันเสีย เพราะทำให้ผิวระคายเคือง และเกิดการแพ้ได้ หรืออาจทำให้ผิวอุดตันกลายเป็นสิวได้ง่ายขึ้น
การทำเลเซอร์ ทำให้เกิดผิวหน้าบาง?

การทำเลเซอร์สามารถทำให้เกิดผิวหน้าบางได้ ในกรณีที่เป็นชนิดลอกผิว
เนื่องจากเลเซอร์ชนิดนี้จะทำให้เกิดการลอกของผิวหนังชั้นบน ๆ ขึ้นหลังทำ จากนั้นไม่นานกระบวนการซ่อมแซมของร่างกายก็จะซ่อมสร้างผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน
ดังนั้นช่วงเวลาที่ผิวบางจึงเกิดขึ้นชั่วคราว ไม่ใช่แบบระยะยาว และการสร้างเซลล์ผิวใหม่ก็ยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวมากขึ้น ทำให้ชั้นผิวหนาขึ้น และได้ผิวใหม่ที่แลดูอ่อนเยาว์ลง